Home Photo

Home Photo
Happy New Year 2019

สวัสดีปีใหม่ค่ะ
กว่าจะมาสวัสดีได้ก็ผ่านไปถึง 15 วันแล้ว
เวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน
แต่เราก็ยังมีอีก 11 เดือนครึ่งที่เหลืออยู่ให้ได้ทำอะไร ๆอย่างที่ใจปรารถนา
ขอส่งความรู้สึกดี ๆ ส่งแรงกายและแรงใจ และความเบิกบานเป็นสุขถึงเพื่อนอ่านทุกคนค่ะ

ลงภาพวาดหมายเลข 5 ซึ่งเป็นภาพเล็กหรือภาพลองวาดในกระทู้ "บทกวีบนแคนวาส"แล้วนะคะ

จัสมิน
15 มกราคม 2562


10.9.53

พงไพรในแววตา


















๑. ฟัง

พลิ้วลมโชยรวยรินยินเพลงป่า
ช่อดอกหญ้าโยกโยนในโชนแสง
แดดหลิ่วตาปลอบคนล้า อย่าสิ้นแรง
ท่ามร้อนแล้งที่พักพิงให้อิงใจ

แว่วเพลงอ่อน อ้อนออด ลอดดงพฤกษ์
กลองหัวใจตั๊กตึ๊ก ระทึกไหว
โอนั่นคือจังหวะเต้นเร้นพงไพร
หรือคือเสียง ... หัวใจ ของใครกัน ?

อ้อยสร้อย อ้อยสร้อย ร้อยนึกคิด
ทีละนิดค่อยบรรเลงเพลงเสกสรรค์
คือเพลงฟ้าคลอเคล้าหยอกเย้าจันทร์
คือเพลงวันปลอบขวัญในฝันงาม

แม้ดิบเถื่อนซับซ้อนซ่อนหวั่นไหว
ระยะห่างบนทางใกล้ใจตอบถาม
ตื่นจากฝันแล้วตั้งหน้าพยายาม
เถิดจะพาติดตามความเป็นจริง

ทอดสายตามองสระใหญ่ในรู้สึก
ใต้ล้ำลึกบ่าไหลใช่น้ำนิ่ง
ธารกระจกสะท้อนย้อนเตือนติง
อย่าหลงสิ่งลวงตามายาพราย

กลางป่าซ่อนอโนดาตหยาดน้ำใส
ผ่านรกทึบต่างกันไกลในความหมาย
ประเดี๋ยวกล้าประเดี๋ยวพรั่นอันตราย
ทั้งดึงดัน ... และแพ้พ่ายหลายครั้งคราว ~

๒. พัก

ใต้ร่มไม้ใบหนาจึงมานั่ง
เปรียบอุ่นอังผิงไฟในวันหนาว
เอนบนพรมใต้ต้นไม้ไหวดอกพราว
หาว ... หาว ... แล้วหลับตา ให้ล้าคลาย

หยดน้ำค้าง ตกจากกรวย สวยใบไม้
กระทบแสง พลันวับไว ในแสงฉาย
เกลื่อนกล่น ประดุจเพชร เกล็ดกลาย
ท่ามหลากหลาย ดื่มด่ำ จำเพียงงาม ...

เหนื่อยหนอ เหนื่อยนัก ขอพักก่อน
ฟังลมอ้อนอ้อล้อช่อไม้หวาม
โยกโยนระบัดใบให้ลมตาม
ชมโลกยามเริงรื่นชื่นสายลม




~

12 ความคิดเห็น:

  1. จะมาเขียนร่วมนะคะ แปะไว้ก่อนนะ
    แปะ
    ^^

    ตอบลบ
  2. อ้อยส้อย น่าจะเป็น อ้อยสร้อย มากกว่านะครับ
    สร้อย ในบริบทนี้ น่าจะเป็นสร้อยที่แปลว่า โศก

    ตอบลบ
  3. และคำว่า ส้อย ก็ไม่มีในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิต

    ตอบลบ
  4. มาแล้วพจนานุกรมส่วนตัว ... คุณยายคงส่งมาแทนตัว ..
    คนนี้เลยที่ทำให้ต้องหาครูภาษาไทยมาช่วยเพิ่มพูนที่บ้าน
    คนนี้แหละ ลูกพี่ทิว เรียกลูกพี่เพราะเหตุนี้เลย ^^

    อันเนื่องมาจากคำว่าเศร้า"สร้อย" อ้อย"สร้อย"
    เคยเป็นประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาที่บอร์ดโน้นโดยคุณ"แตออ"
    ทักจัสมินว่า ไม่ใช่สร้อย ต้องส้อย นะกะรีบตรวจสอบให้
    บอกจัสมินว่า "ส้อย"
    คนภาษาไม่แข็งแรงอย่างจัสมินก็ใช้ "ส้อย" มาตลอดเลยค่ะ
    ขอบคุณที่ทักเสมอเมื่อเห็นอะไรผิดตา ขอบคุณค่ะ
    ดีใจที่มาและขอบคุณที่ทัก

    ยังจำได้ที่บอกว่า อักษาต่ำไม่ใช้ไม้ตรี ยังจำได้
    กระนั้นก็ไม่แม่นว่าตัวอักษรใดเป็นอักษรต่ำบ้าง

    ^^

    ดีใจที่ลูกพี่มา ตบมือ ตบมือ ตบมือ ดีใจค่ะ ^^

    ตอบลบ
  5. 555 ไม่ถึงขนาดนั้นกะมัง ผมก็มักเขียนผิด ๆ ถูก เหมือนกัน
    บางคำเราไม่คุ้นเคย หรือบางคำเราอาจใช้บ่อยแต่ไม่เคยเอะใจ
    สมัยนี้มันง่าย สำหรับการตรวจสอบคำต่าง ๆ

    ความจริง คำว่า อ้อยสร้อย นี่มันมีความหมายว่าอย่างไร

    ไม่ใช่ประโยคคำถามครับ 555

    แต่จะสื่อว่า การเลือกใช้คำ ต้องดูความหมายเป็นสำคัญ

    ผมเป็นคนหนึ่งที่บางครั้งมักใช้คำผิดความหมาย

    แต่หลายครั้งก็จงใจใช้คำนั้นในความหมายอื่น

    ถ้าเราจงใจใช้ในความหมายอื่น ก็อาจจะทำตัวเอียงไว้หรือทำตัวหนาไว้

    เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้อ่านได้สะดุดตา

    เรื่องอักษรของไทยเป็นเรื่องแปลกประหลาด

    คือว่า เรามีอักษรมากเกินความจำเป็น

    อย่าง ข ไข่ กับ ค ควาย

    ต้องผันคู่กัน จึงจะได้ครบ ๕ เสียง

    คือ คา ข่า ข้า(ค่า) ค้า ขา

    จะไม่มีการเขียนว่า ข๊า หรือ ค๊า หรือ ข๋า หรือ ค๋า

    เพราะโดยหลักไวยากรณ์มันบังคับไว้อยู่

    เรื่องวรรณยุกต์เป็นไวยากรณ์ไทยโดยแท้

    เป็นหัวใจของภาษาที่มีเสียงดนตรี

    คล้าย ๆ กับ Tense ที่เป็นหัวใจของภาษาอังกฤษ

    หากเราไม่เข้าใจหัวใจ จำหลักไม่แม่น ก็พลาด

    คนไทยใช้ผิด ๆ พลาด ๆ กันเยอะ เพราะไม่แม่นไวยากรณ์ตรงนี้

    ทีนี้มันมีความลักลั่นของภาษา ที่แสดงเสียงได้ไม่ตรง

    (เรื่องนี้จะโม้ในภายหลัง) ซึ่งเป็นปัญหา

    เพราะเสียงดนตรีในอักษรไทยมีแค่ ๕ เสียง

    ตามหลักสากลเขามีกัน ๘ ขั้น

    คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด

    แต่ถ้าจะนับขั้นย่อย ก็ต้องเป็นสิบสี่ขั้น

    ตามหลักการเสียงครึ่งขั้น

    คือ โด โด# เร เร# มี ฟา ฟา# ซอล ซอล# ลา ลา# ที โด โด#

    เสียงวรรณยุกต์ไทย จึงแทนเสียงบางเสียที่เราต้องการไม่ได้

    และทำให้เกิดปัญหาการใส่วรรณยุกต์ผิดด้วย


    ปกติผมไม่จำว่าอักษรต่ำมีอะไรบ้าง อักษรกลางมีอะไรบ้าง

    อักษรสูงมีอะไรบ้าง

    แต่ในแบบเรียนเขาจะมีทริคในการจำ

    แต่ผมจำแค่ว่า

    ถ้า อักษรไหนอยู่ในรูปสามัญแล้วมันเป็นเสียงจัตวา มันก็คืออักษรสูง

    เช่น ขา (ข๋า หรือ ค๋า)

    ส่วนอักษรกลางคือ อักษรที่ผันได้ครบทั้งห้าเสียง

    เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า

    เวลาจำเด็ก ๆ เขาจะจำแค่อักษรกลางก็พอ

    เขาจำว่า

    ไก่ จิก เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง

    ก็คือ ก จ ด ต บ ป อ มี ฎ และ ฏ ด้วย

    บางคนเพื่อกันพลาด(ไปเพื่อ? ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นคอมมอนเซ้นซ์)

    เขาก็จะจำว่า ไก่ จิก เด็ก ตาย เฎ็ก ฏาย บน ปาก โอ่ง

    คือเขากลัวว่าเราจะไม่รู้ว่าเด็กมันตายจริง ๆ กระมัง เลยย้ำให้ว่า เด็กตายจริง ๆ 5555

    ส่วนอักษรสูงไม่จำก็ได้

    ถ้าคำไหนรูปสามัญ(คือไม่มีวรรณยุกต์ประกอบ)

    แล้วเสียงมันเป็นเสียงสูง ในที่นี้คือ เสียง อ๋า ก็แปลว่ามันเป็นอักษรสูง

    เสียงนี้พิเศษมาก คือ เราจะใช้การโหนเสียงได้ไพเราะหรือโหยหวนได้

    แต่ถ้าจะจำเขาก็มีหลักจำอีกนั่นแหละ

    เขาจำกันว่า

    ผี ฝาก ถุง ข้าว สาร ให้ ฉัน

    ผ ฝ ถ ฐ ข ฃ ส ษ ศ ห ฉ

    นอกนั้นที่เหลือเป็นอักษรต่ำหมด

    แต่มันจะมีอีกประเภทหนึ่ง เขาเรียกอักษรต่ำไร้คู่ (มันอาภัพจริง ๆ ต่ำแล้วยังไร้คู่อีก 555)

    คือ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล

    อันนี้เด็ก ๆ เขาจำกันว่า
    งู ใหญ่ นอน อยู่ ณ ริม วัด โม ฬี โลก

    ที่ว่าไม่มีคู่ คือ ไม่มีคู่เป็นอักษรสูง ( เช่น ข ค อันนี้มีคู่)

    เพราะฉะนั้น พวกนี้เวลาอยากได้เสียงวรรณยุกต์ครบห้าเสียงต้องใช้ ห นำ

    คือ เช่น หง ตัวอย่าง หงา ก็จะผันได้ เป็น งา หง่า หง้า ง้า หงา

    เอวังแต่เท่านี้ก่อนครับ

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณมาก ๆ และ จริง ๆ เลยค่ะ .. มีประโยชน์มากเลย
    ครูภาษาไทยไม่เห็นสอนจัสมินอย่างนี้
    ดังนั้น จะส่งที่พี่ทิวเขียนวันนี้ให้ครูอ่าน เหอะ

    เวลาเราคุยกับใครบางคน จะอ้อยสร้อยไปเอง โดยไม่รู้ตัวค่ะ ^^
    ลูกพี่ก็เคย เชื่อเหอะ ก้ากกกก ลูกพี่อ้อยสร้อย ...
    จัสยังเคยอ้อยสร้อยร้อยนึกคิดกับแม่เลยยย
    คุณทิวไม่ได้ถาม จัสก็ไม่ได้ตอบ แค่เล่าให้ฟัง

    เขียนเมลตอบสามประเด็นอย่างยาวววว
    แวบหายไปซะแล้ว
    ดังนั้น จัสมินจะโทรหานะคะ คงพรุ่งนี้ยามค่ำ

    แล้วคุยกันค่ะ




    ...

    ตอบลบ
  7. อ้าวเหรอครับ 555 แล้วเขาสอนอย่างไหนนี่

    ความจริงผมก็ไม่ได้เรียนมาอย่างนี้หรอก

    แต่ที่เพ้อเจ้อมานี่มันมาจากการใคร่ครวญของผมส่วนหนึ่ง

    บวกกับประสบการณ์ที่ได้เรียนมาส่วนหนึ่ง

    แล้วก็เป็นหลักจำของผมเอง

    เรื่องเสียงวรรณยุกต์นี้เคยสนทนากับอาจารย์ทองแถม (นาถจำนง)

    แกก็ว่ามันก็เป็นจริงอย่างนั้น

    คือเราไม่มีเครื่องหมายแทนวรรณยุกต์ได้แปดขั้น

    และไม่แน่ใจว่ามีภาษาไหนมีหรือป่าว

    นอกจากภาษาดนตรี


    เรื่องที่คนชอบเขียน นะค๊า น๊า นี่มันมีเหตุมาจากเรื่องนี้แหละครับ

    คือเวลาเราออกเสียงพวกนี้มันออกเสียงสูงกว่าเสียงตรีนิดหน่อย

    แต่มันเป็นเสียงของอักษรต่ำ

    แต่ถ้าเราเขียน น้า มันก็จะได้ไม่ตรงเสียงที่ต้องการ

    เพราะเสียงมันเลยเสียงตรีไปแล้วกึ่งเสียง

    ถ้าจะเขียน นะ มันก็เสียงสั้นไป

    มันก็เลยเป็นปัญหาคนไม่รู้หลักไวยากรณ์ก็เลย เขียน น๊า ไป

    คนรู้ไวยากรณ์ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะเขียน น้า

    อีกทั้งมันยังไปพ้องกับคำว่า น้า ที่แปลว่าน้องของแม่ 555

    และเวลาเขียนว่า น้า มันก็ไม่ได้อารมณ์เท่า น๊า

    ความจริงเราควรจะมีเครื่องหมายมาแทนกึ่งเสียงตรงนี้

    อ.ทองแถมเคยบอกให้เสนอเรื่องนี้ไปที่ราชบัณฑิต

    ผมไม่มีเวลารวบรวมข้อมูล

    ก็เลยอ้อยสร้อยอยู่ดังนี้ 55555

    ตอบลบ
  8. ดีจังเลยค่ะ ขอบคุณพี่ทวฟ้าและพี่จัสมนค่ะ
    ไดทบทวนความรู้ และทราบเป็นความรู้ใหม่
    ขอบคุณค่ะ
    ^^

    ตอบลบ
  9. ดีจังเลยค่ะ ขอบคุณพี่ทิวฟ้าและพี่จัสมินค่ะ
    ได้ทบทวนความรู้ และทราบเป็นความรู้ใหม่
    ขอบคุณค่ะ
    ^^
    (เรียนเรื่องวรรณยุกต์ปั๊บ ความเห็นบน สระ วรรณยุกต์หายเสียอย่างนั้น)

    ตอบลบ
  10. ความจริงเรื่องวรรณยุกต์นี่มันก็ไปเอี่ยวกับพวกคำเป็นคำตายให้ได้ปวดหัวอีก
    เพราะพวกคำตายนี้มันจะมีเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงรูป
    สรุปว่า เรื่องนี้มันต้องแม่นมาก ๆ ว่าเสียงอะไรเป็นเสียงอะไร จะได้ไม่พลาดครับ

    ตอบลบ
  11. ขอบคุณคุณทิวค่ะ .. มาเพิ่มเติมความรู้ได้เรื่อย ๆ นะคะ ..
    ได้ประโยชน์จริง ๆ ยิ่งสำหรับจัส

    เรื่องคำเป็นคำตาย เคยถามไว้ที่บอร์ดประพันธ์สาสน์
    คนที่มาให้ความรู้คือคือคุณใหม่ ถึงวันนี้ก็จำไม่ได้แล้วว่าอยู่กระทู้ไหน
    รู้สึกจะเป็นของคุณคมเย็น

    ส่วนที่คุณทิวมาเขียนไว้ จะใช้จำที่คำว่า อ้อยสร้อย "พงไพรในแววตา" ค่ะ

    วันนี้ดีใจที่คุยกันยาว คุยกันดี มีคุณภาพ ค่ะ ^^


    ...

    ตอบลบ
  12. ย้อนกลับมาอ่านบทเรียนไวยากรณ์ไทยของคุณทิว
    ท่องจำอักษรกลางผันได้ห้าเสียง

    ไก่ จิก เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง

    ฮ่า ๆ ^^ ขำ สนุกดีจริง

    ไม่น่ากลัวเลยนะไวยากรณ์ไทย

    ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ

    ตอบลบ